skip to Main Content

 

บทนำ

พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2551 เป็นผลให้โรงงานควบคุม/อาคารควบคุม ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายให้ถูกต้องครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ สำหรับการดำเนินงานอนุรักษ์พลังงานของโรงงานควบคุม/อาคารควบคุมที่ผ่านนั้น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้มีการดำเนินงานโครงการและมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โครงการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วม โครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โครงการสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในเชิงกว้าง ประกอบกับผลการศึกษาของโครงการศึกษาเกณฑ์การใช้พลังงานในอุตสาหกรรมและอาคารประเภทต่างๆ ที่ผ่านมาพบว่า มีเทคโนโลยีเชิงลึกที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละประเภทอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ ที่มีศักยภาพในการประหยัดพลังงานสูง

ในการนี้เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งสะท้อนได้จากรายงานการจัดการพลังงานตามกฎหมายที่โรงงานควบคุม/อาคารควบคุม มีการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วัสดุหรืออุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และประยุกต์ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบ Internet of Thing ร่วมกับอุปกรณ์ประหยัดพลังงานยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร พพ. จึงมีแนวคิดในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบ Internet of Thing ร่วมกับอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบถึงข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นในการอนุรักษ์พลังงาน เช่น สถานภาพการใช้พลังงาน การแจ้งเตือนระดับการใช้พลังงาน แนวทางการลดความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด และมาตรการการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น รวมถึงการควบคุมอัตโนมัติในการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานผ่านทางระบบแสดงผลในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยให้กระบวนการทำงานมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดย พพ. จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าวในรูปแบบของเงินอุดหนุนการลงทุนแบบให้เปล่าจำนวนหนึ่ง ซึ่งผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต้องมีงบประมาณในการดำเนินมาตรการ แต่อาจเป็นข้อจำกัดสำหรับสถานประกอบการในด้านการลงทุนที่สูงและระยะเวลาคืนทุนนานในการประยุกต์ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบ Internet of Thing ร่วมกับอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ดังนั้น โครงการดังกล่าวจึงเป็นการสนับสนุนและขยายผลการลงทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ เพื่อจูงใจให้สถานประกอบการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงาน และเกิดการประหยัดพลังงานในภาพรวมของประเทศ ตามเป้าประสงค์ของแผนอนุรักษ์พลังงาน และสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0

วัตถุประสงค์

– เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและจูงใจให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจนำระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบ Internet of Thing มาใช้ร่วมกับอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน

– เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานของสถานประกอบการและลดการใช้พลังงานในภาพรวมของประเทศ

ข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจ

ให้การสนับสนุนโรงงานควบคุม/อาคารควบคุมในการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบ Internet of Thing ร่วมกับอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน วงเงินรวมทั้งสิ้น 220,000,000 บาท โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้น ดังนี้

–    ค่าสนับสนุนเงินลงทุนสูงสุด ในอัตราร้อยละ 20 ของเงินลงทุนในมาตรการนั้นๆ แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย

–    ค่าสนับสนุนสำหรับค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบและควบคุมงานที่โรงงานควบคุม/อาคารควบคุมมอบหมายให้ดำเนินการสำรวจและออกแบบระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบ Internet of Thing ร่วมกับอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ในอัตราร้อยละ 2 ของเงินลงทุนในมาตรการนั้นๆ แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อราย

–    กลุ่มเป้าหมาย ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นสถานประกอบการภาคเอกชนที่ขึ้นทะเบียน หรืออยู่ในระหว่างการขอขึ้นทะเบียนเป็นโรงงานควบคุม/อาคารควบคุมกับทาง พพ.

เงื่อนไขและประกาศ
เอกสารใบสมัครและหนังสือนำส่ง
เอกสารประกอบอื่นๆ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม นายไกรวี โนศรี เบอร์ติดต่อ 02 223-0021-9 ต่อ 1803 หรือโทรศัพท์มือถือ 096-305-3007

 

Back To Top