skip to Main Content
พพ. เดินหน้าอาคารอนุรักษ์พลังงาน จับมือสภาวิศวกรเร่งพัฒนาบุคลากรรับรองแบบ

พพ. เดินหน้าอาคารอนุรักษ์พลังงาน จับมือสภาวิศวกรเร่งพัฒนาบุคลากรรับรองแบบ

อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ลงนาม MOU ร่วมกับสภาวิศวกร เดินหน้าสร้างองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาบุคลากรตรวจรับรองแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน รองรับกฎกระทรวง BEC ที่คาดว่า จะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคมนี้

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจการสนับสนุนการออกแบบอาคารเพื่ออนุรักษ์พลังงานตามกฎหมาย ร่วมกับ ดร.กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการตรวจแบบรับรองแบบอาคารให้เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ… (BEC) ที่คาดว่า จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนตุลาคมนี้

กฎกระทรวงดังกล่าวจะบังคับใช้กับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภท ได้แก่ สถานพยาบาล สถานศึกษา สำนักงาน อาคารชุด อาคารชุมนุมคน(หอประชุม) โรงมหรสพ โรงแรม อาคารสถานบริการ และอาคารศูนย์การค้า หรือห้างสรรพสินค้าที่มีขนาด 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป โดยการบังคับจะเริ่มจากอาคารขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมก่อน โดยปีที่ 1 บังคับกับอาคารขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ปีที่ 2 บังคับกับอาคารขนาดตั้งแต่ 5,000 เมตรขึ้นไป ปีที่ 3 บังคับกับอาคารขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้จะร่วมมือกับสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกเป็นระยะเวลา 5 ปี ในขอบเขต ดังนี้ 1. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสามารถตรวจรับรองแบบอาคาร BEC 2. ร่วมกันจัดฝึกอบรมและทดสอบ โดยสภาวิศวกรหรือสมาคมวิชาชีพด้านวิศวกรรมและนิติบุคคลอื่นๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาวิศวกรหรือสมาคมวิชาชีพวิศวกรรมและนิติบุคคลอื่นๆ โดยออกวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการอบรมและทดสอบ 3. ร่วมจัดอบรมและตรวจประเมินแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยใช้โปรแกรมที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกัน 4. ร่วมพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานให้เหมาะสม ทันสมัยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศ

อธิบดี พพ. กล่าวว่า เรื่องมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานในอาคาร BEC เป็นหนึ่งใน 7 มาตรการสำคัญในแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ที่ พพ.ดำเนินการอยู่ คาดว่า ภายในปี 2579 เฉพาะมาตรการนี้เพียงมาตรการเดียวจะสามารถประหยัดพลังงานคิดเป็นมูล 47,000 ล้านบาท ปัจจุบันประเทศไทยมีการก่อสร้างอาคารหลากหลายรูปแบบ แบบที่อนุรักษ์พลังงานยังมีไม่มาก แต่เมื่อมีมาตรการนี้เข้ามาอย่างน้อยจะทำให้การใช้พลังงานในอาคารประหยัดลงได้ 10%

ด้าน ดร.กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า ปัจจุบันสภาวิศวกรกับสภาสถาปนิกมีการดำเนินงานร่วมกันอยู่แล้ว ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดและวางแผนร่วมกันอย่างเป็นขั้นตอนต่อไป ในส่วนของสภาวิศวกร งานวิศวกรรมเชิงวิชาการจะมีค่อนข้างมาก และมีเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้ามา ทั้งกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายการอนุรักษ์พลังงาน และกฎหมายอาคาร สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องมีทีมงานเข้าไปศึกษาและเตรียมการให้พร้อม ทั้งนี้จะดำเนินการโดยที่มีการร่วมกันหารือกันเป็นระยะ ๆ ต่อไป เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561

Back To Top