หลักการและเหตุผล
ตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 (แก้ไขเพิ่มเติม 2550) ในมาตรา 19 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ออกกฎกระทรวงกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และหลักเกณฑ์ วิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2552 หรือข้อบังคับเกณฑ์มาตรฐานอาคารก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงด้านพลังงาน (มาตรฐาน Building Energy Code: BEC) และมาตรฐานดังกล่าวได้ถูกกำหนดเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (EEP 2015) ที่มีเป้าหมายเพื่อลดความต้องการการใช้พลังงานของประเทศด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด ซึ่งสถานภาพปัจจุบันกฎกระทรวงอยู่ระหว่างการแก้ไขโดยได้ผ่านการตรวจพิจารณาแก้ไขจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และอยู่ระหว่างเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบจะได้มีการประกาศบังคับใช้ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2564 โดยจะเริ่มบังคับใช้กับอาคารขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไปก่อน ในปีที่ 1 และจะบังคับใช้กับอาคารขนาดพื้นที่มากกว่า 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป ในปีที่ 2 และจะบังคับใช้กับอาคารขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ในปีที่ 3 ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า มีอาคารสร้างใหม่หรือดัดแปลงที่เข้าข่ายที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร จำนวนไม่น้อยกว่า 1,200 อาคารต่อปี ดังนั้นเพื่อเป็นการกำกับดูแลและสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้อาคารมีการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างถูกต้อง และมีการใช้พลังงานในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพสูงสุด พพ. จึงจำเป็นต้องดำเนินโครงการกำกับดูแล และสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (BEC)
วัตถุประสงค์
- เพื่อกำกับ ดูแลสนับสนุนและติดตามผลการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน
- เพื่อบริหารจัดการหน่วยงานประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
- เพื่อตรวจประเมินแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และรับรองการออกแบบอาคารก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงตามกฎกระทรวงฯ ของหน่วยงานภาครัฐ
ขั้นตอนการดำเนินการ
- งานด้านการบริหารจัดการหน่วยงานศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
1.1 บริหารจัดการศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยจัดให้มีบุคลากรประจำและทำหน้าที่ตามที่กำหนดในโครงการ
1.2 ให้คำปรึกษาแนะนำแนวทางการออกแบบก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และกฎกระทรวงการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้แก่ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ นิติบุคคล ผู้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม วิศวกร และสถาปนิกที่จะออกแบบอาคาร
1.3 รวบรวมข้อมูลความรู้ด้านการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และเผยแพร่ข้อมูลผลการดำเนินงาน ความรู้ ข่าวสาร และความเคลื่อนไหว ทิศทางแนวโน้มการก่อสร้างอาคารที่ดำเนินการในปัจจุบันและในอนาคต
1.4 จัดประชุมระดมความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางการปรับปรุงเกณฑ์การออกแบบอาคารและโปรแกรม BEC ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัยและเริ่มมีการใช้ในอาคาร
1.5 จัดทำฐานข้อมูลของอาคารที่ได้รับการตรวจประเมิน ผู้ผ่านการฝึกอบรม และวัสดุอุปกรณ์ วิเคราะห์ และสรุปผลการปรับปรุงอาคารที่ผ่านการตรวจประเมิน ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ระยะเวลาคืนทุน, วิธีการปรับปรุง และผลประหยัดที่เกิดขึ้นให้มีข้อมูลเป็นปัจจุบัน
1.6 ประชาสัมพันธ์ศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานผ่านช่องทางเว็บไซต์ของโครงการ โดยมีการปรับปรุงข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง
- 2. งานด้านส่งเสริมและสนับสนุนความรู้ด้านการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
2.1 การจัดกิจกรรมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) เรื่องการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน กับหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือสถาบันการศึกษา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง
2.2 สนับสนุน ออกบูธเพื่อแสดงกิจกรรมการดำเนินการของ พพ. โดยจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการส่งเสริมการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้กับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ตามโอกาส และความจำเป็น โดยที่ปรึกษาเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด
2.3 จัดทำสื่อเอกสารเผยแพร่โครงการฯ ประกอบด้วย
(1) บอร์ดเผยแพร่โครงการฯ แบบเคลื่อนที่ได้ จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ชุด
(2) จัดทำสื่อออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย ประกอบด้วย
– VDO Clip จำนวนไม่น้อยกว่า 1 เรื่อง
– สื่อ Infographic BEC จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง
(3) แผ่นพับการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ขนาด A4 จำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 แผ่น
(4) คู่มือแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน ขนาด A5 จำนวนไม่น้อยกว่า1,500 เล่ม
(5) รายงานสรุปผลดำเนินงานประจำปี ขนาด A4 จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 เล่ม
2.4 จัดสัมมนาแถลงผลการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการในรูปแบบที่เหมาะสม จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง โดยใช้สถานที่ที่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมงาน และจำนวนรวมไม่น้อยกว่า 50 คน พร้อมอำนวยความสะดวกจัดหาอาหารและเครื่องดื่มอย่างเหมาะสมและเพียงพอ
- งานด้านกำกับดูแลและติดตามผลการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน
3.1 สำรวจและรวบรวมข้อมูลสถานภาพของอาคารที่ผ่านการตรวจประเมินแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของการออกแบบและก่อสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงาน
3.2 การเข้าตรวจวัดการใช้พลังงานและเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของอาคารที่ผ่านการตรวจประเมินแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและเปิดใช้งานแล้ว ไม่น้อยกว่า 10 อาคาร
3.3 จัดกิจกรรมมอบฉลากแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2562 จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง โดยต้องมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนรวมไม่น้อยกว่า 50 คน พร้อมอำนวยความสะดวกในเรื่องอาหารและเครื่องดื่มอย่างเหมาะสมและเพียงพอ
- 4. งานตรวจประเมิน ปรับปรุงและรับรองแบบอาคารใหม่ หรือดัดแปลง
ให้บริการตรวจประเมิน ปรับปรุงและรับรองแบบอาคารก่อสร้างใหม่ หรือดัดแปลงอาคารตามกฎกระทรวงฯ ทั้งอาคารภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน รวมทั้งให้ข้อแนะนำในการออกแบบอาคาร หรือปรับปรุงแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมบันทึกลงฐานข้อมูล และออกเอกสารรับรองผลการประเมินแบบอาคาร ภายในระยะตามที่กำหนดตามข้อตกลงการให้บริการ รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 30 แบบอาคาร
ผู้รับผิดชอบโครงการ
นายประกอบ เอี่ยมสอาด หัวหน้ากลุ่มกำหนดและควบคุมมาตรฐานอาคาร
02-223-0021-9 ต่อ 1630
E-mail prakob.a@dede.go.th