skip to Main Content

พพ. เดินหน้าใช้กฎกระทรวง BEC คุมอาคารใหม่-ดัดแปลง

พพ. เดินหน้าใช้กฎกระทรวงBEC คุมอาคารใหม่-ดัดแปลงขนาด2,000 ตร.ม.ขึ้นไป หลังได้ประกาศในราชกิจจาฯ มีผลบังคับใช้13 มี.ค.64 ชูเป็นกฎหมายสำคัญช่วยประหยัดพลังงานในภาคอาคารร้อยละ10 ลดการใช้ไฟฟ้าได้รวม 13,700 ล้านหน่วย หรือกว่า 47,000 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 7,282 ตัน

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. ได้ริเริ่ม พัฒนา ผลักดัน กฎกระทรวงเกณฑ์การออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ Building Energy Code : BEC เพื่อเป็นมาตรฐานบังคับใช้กับอาคารขนาดใหญ่ ที่มีการใช้พลังงานสูง ด้วยการกำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์และวิธีการออกแบบอาคาร เพื่อให้อาคารมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2563 กฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือขนาดของอาคารและมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ ๒๕๖๓ ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2564 เป็นต้นไปกับอาคารขนาด 10,000 ตร.ม.ขึ้นไปก่อน และอาคาร 5,000 ตร.ม.ขึ้นไปในปี 2565 และอาคาร 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป ในปี 2566 ตามลำดับ
สําหรับกฎกระทรวงเกณฑ์การออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน นี้ ได้กําหนดให้อาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงครอบคลุมอาคาร 9 ประเภท ที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป ต้องดําเนินการออกแบบให้เป็นไปตามเกณฑ์ประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำ ซึ่งครอบคลุมระบบเปลือกอาคาร ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ ระบบผลิตน้ําร้อน และการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ พพ.ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎกระทรวงฯ ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีดำเนินการ ดังนี้
1.จัดตั้งศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้คําปรึกษาแนะนําและตรวจรับรองแบบอาคารภาครัฐ โดยรับรองผลภายใน 28 วันทําการ
2.จัดสัมมนาให้ความรู้แนวทางการออกแบบอาคารตามเกณฑ์มาตรฐาน BEC ให้กับเจ้าของอาคาร ผู้ออกแบบ ผู้ผลิตผู้จำหน่ายวัสดุ/อุปกรณ์ สถาปนิก วิศวกร และผู้ที่สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน รวมกว่า 3,500 คน
3.ฝึกอบรมผู้ตรวจรับรองแบบอาคารให้กับวิศวกรและสถาปนิก มีผู้สำเร็จหลักสูตรแล้วจำนวนกว่า 650 คน มีเป้าหมายจำนวน 1,500 คน ในปี 2566
4.จัดสัมมนาอบรมให้ความรู้ความเข้าใจแนวทางการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารตามเกณฑ์ BEC ให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ปัจจุบันอบรมไปแล้วจำนวนกว่า 2,800 คน ทั่วประเทศ มีเป้าหมาย 4,000 คน ภายในปี 2565
5.ลงนามบันทึกความร่วมมือ เพื่อสร้างเครือข่ายส่งเสริมและสนับสนุนการออกแบบอาคารตามเกณฑ์ BEC ร่วมกับภาคเอกชนและภาครัฐ มากกว่า 30 แห่ง
6.นำร่องให้บริการตรวจประเมินแบบอาคารตามเกณฑ์ BECกับอาคารภาครัฐและภาคเอกชนที่สมัครใจ ตั้งแต่ปี 2552–2563 มีจำนวนกว่า 850 อาคาร มีผลประหยัด 630 ล้านหน่วย หรือประมาณ 54 ktoe/ปี
7.จัดงานมอบฉลากแบบอาคารอนุรักษพลังงาน (BEC Awards) ให้แก่อาคารที่ผ่านการตรวจการประเมินแบบอาคาร และมีผลประหยัดสูงกว่าเกณฑ์BEC (ร้อยละ 30 ขึ้นไป) ดำเนินการตั้งแต่ปี 2559-2562 รวมมากกว่า 130 อาคาร

ดร.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า กฎกระทรวงBECดังกล่าว จะช่วยให้เจ้าของอาคารและผู้ใช้อาคารจะจ่ายค่าไฟลดลงอย่างน้อยร้อยละ 10 ส่วนประเทศไทยเราก็จะประหยัดพลังงานมากขึ้น และมีเป้าหมายตามแผนEEP2018 ว่าภายใน 20 ปี จะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้รวม 13,700 ล้านหน่วย คิดเป็น 1,166 ktoe หรือคิดเป็นเงินกว่า 47,000 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 7,282 ตัน

กระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. ๒๕๖๓
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/094/T_0007.PDF
Back To Top